นิทานอีสป เด็กเลี้ยงแกะ สอนเรื่องโทษของการโกหก
นิทานอีสปเรื่องเด็กเลี้ยงแกะมีคำเล่าลืออยู่ว่ามีเด็กเลี้ยงแกะคนหนึ่ง ทุกวันได้แต่เฝ้าแกะอยู่กลางทุ่งนา เจ้าหนูจึงเกิดความรู้สึกเบื่อ คิดหาอะไรเล่นแก้เหงาดูบ้าง วันหนึ่งขณะที่เฝ้าแกะอยู่เหมือนเดิม เขาก็คิดวิธีเล่นสนุกขึ้นมาได้ ก่อนหน้านี้ผู้ใหญ่เคยสั่งไว้ว่าหากมีอันตรายกับตัวเขาและฝูงแกะ มีหมาป่าเข้ามาทำร้ายลูกแกะ ให้เขาตะโกนขอให้คนในหมู่บ้านมาช่วย เขาจึงคิดแผนการเล่นสนุกขึ้นมาได้ เด็กเลี้ยงแกะวิ่งเข้าไปในหมู่บ้าน ทำท่าทางตื่นกลัวสุดขีดและร้องตะโกนสุดเสียง
“หมาป่ามาแล้ว หมาป่ามาแล้ว มันกำลังจะมากินฝูงกะ ช่วยด้วย”
เมื่อผู้คนในหมู่บ้านได้ยินดังนั้น ทุกคนต่างตกใจและเป็นห่วงกลัวว่าเด็กเลี้ยงแกะจะรับอันตราย และกลัวว่าฝูงแกะจะถูกหมาป่ากิน จึงได้ทิ้งการงานที่กำลังทำอยู่ วิ่งตามเด็กเลี้ยงแกะไปยังทุ่งหญ้าที่แกะอยู่นั้น เมื่อไปถึงก็พบว่าแกะทุกตัวอยู่อย่างปกติดี ฝ่ายเด็กเลี้ยงแกะก็หัวเราะชอบใจที่หลอกผู้ใหญ่สำเร็จ หลังจากวันนั้นครั้งใดที่เด็กเลี้ยงแกะเบื่ออีกเมื่อไหร่ก็จะวิ่งตะโกนให้ชาวบ้านมาช่วยอีก เขาจะร้องว่า
“ช่วยด้วย ช่วยด้วย หมาป่ากำลังมากินฝูงแกะ“
แต่ทุกครั้งที่ชาวบ้านรีบมาช่วย ก็พบว่าไม่มีอะไรผิดปกติ แต่เป็นการล้อเล่นของเด็กเลี้ยงแกะเสียทุกครั้งทำให้ชาวบ้านเริ่มเอือมระอาเด็กเลี้ยงแกะ
และแล้ววันหนึ่ง เมื่อเด็กเลี้ยงแกะกำลังเฝ้าแกะอยู่ที่ทุ่งหญ้าเหมือนเคย ก็มีหมาป่าดุร้ายเข้ามาขย้ำแกะของเขา จริง ๆ เด็กเลี้ยงแกะรู้สึกกลัวมาก จึงวิ่งเข้าไปในหมู่บ้าน ตะโกนลั่นให้ชาวบ้านช่วย
“หมาป่ามาแล้ว หมาป่ามาแล้ว มันมากินแกะไปหลายตัวแล้ว ช่วยด้วย“
เขาตะโกนไปร้องไห้ไป แต่ครั้งนี้ไม่มีชาวบ้านแม้สักคนที่วิ่งตามไปช่วยเขา สุดท้ายแล้วแกะทั้งฝูงของเขาก็ถูกหมาป่ากินจนหมด
ข้อคิดที่ได้จากนิทานอีสปเรื่องเด็กเลี้ยงแกะก็คือ ครั้งใดที่ตัดสินใจโกหก นั่นเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือลง ท้ายที่สุดจะไม่มีใครเชื่อในคำพูดคนโกหกอีกต่อไป ต่อไปเรามาอ่านนิทานอีสป ไม้มัดรวมกันต่อเลย