แม่และเด็ก

วิธีดูแลลูกในท้องให้แข็งแรง สิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องทราบ

เมื่อคุณได้ทำหน้าที่คุณแม่ในวินาทีที่ได้รู้ว่ามีทารกตัวน้อยกำลังก่อกำเนิดและเติบโตอยู่ในครรภ์ คุณแม่คงปรารถนาให้ลูกน้อยแข็งแรงและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ใช่ไหมคะ เรามาทราบถึงวิธีดูแลลูกน้อยที่ถูกต้องและการปฏิบัติตัวของคุณแม่เพื่อสุขภาพและพัฒนาการของลูกน้อยตลอดช่วง 9 เดือนที่อยู่ในครรภ์กันค่ะ

1. ช่วงแพ้ท้องในสามเดือนแรก

ในช่วงเดือนแรก ๆ ที่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ อาการที่มักเกิดขึ้นก็คืออาการแพ้ท้องและคลื่นไส้จากที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ลูกน้อยในครรภ์กำลังสร้างเซลล์ขึ้นก่อเกิดเป็นตัวอ่อนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก คุณแม่ควรเริ่มดูแลร่างกายตั้งแต่แรกด้วยการพยายามรับประทานอาหารให้เพียงพอ ดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นจากก่อนตั้งครรภ์สัก 1.5 กก.นะคะ เคล็ดลับที่จะทำให้คุณแม่รับประทานอาหารได้ในช่วงคลื่นไส้แพ้ท้องก็คือ ให้รับประทานอาหารในช่วงเวลาที่รู้สึกคลื่นไส้น้อยที่สุด เลือกอาหารที่ย่อยได้ง่าย ๆ เคี้ยวกลืนง่าย เช่นโจ๊กขนมปังกรอบจืด ๆ พยายามอย่ารับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง ๆ อาหารที่มีน้ำมันเยิ้มอย่างอาหารทอด เพราะจะทำให้คลื่นไส้มากกว่าเดิมค่ะ อาหารที่รับประทานจะเน้นไปเสริมสร้างเซลล์ให้กับตัวอ่อนน้อยในครรภ์ ได้แก่ โปรตีนจากเนื้อสัตว์ แคลเซี่ยมจากเนื้อปลา ผักใบเขียว เต้าหู้ ชีส และนม กรดโฟลิคจากผักใบเขียวและส้ม ธาตุเหล็กจากไข่แดง เนื้อแดง ตับ และเลือด สังกะสีจากอาหารทะเล เกลือเสริมไอโอดีนและสาหร่ายค่ะ

2. เข้าสู่ช่วงกลางของการตั้งครรภ์

ในช่วงระยะที่สองของการตั้งครรภ์ ลูกน้อยจะอยู่ในช่วงที่ร่างกายสร้างอวัยวะส่วนต่าง ๆ การรับประทานอาหารและการพักผ่อน รวมถึงการดูแลตัวเองให้แข็งแรงสมบูรณ์ของคุณแม่เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกน้อยมีอวัยวะต่าง ๆ สมบูรณ์และฟังชั่นการทำงานได้อย่างดีค่ะ คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวันและเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม เพราะในช่วงนี้ลูกน้อยของคุณแม่รับอาหารจากสายสะดือและรก อาหารที่คุณแม่รับประทานจะไปสู่ลูกน้อยได้โดยตรงค่ะ ไม่ว่าคุณแม่จะทานอะไรลูกน้อยก็ทานด้วย น้ำหนักของคุณแม่ตลอด 3 เดือนนี้ควรจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 กก. หรือราวสัปดาห์ละครึ่งกก.นะคะ การรับประทานต้องคำนึงถึงสัดส่วนอาหารที่สมดุลย?กัน ถ้าคุณแม่รับประทานอาหารเน้นคาร์โบไฮเดรตจนเกินไป พวกแป้งน้ำตาลปริมาณมากจะทำให้เสี่ยงต่อความดันสูงและเบาหวานซึ่งเป็นอันตรายมากต่อลูกน้อยและคุณแม่ แต่ในทางกลับกันการรับประทานโปรตีนมากจนเกินไปและคาร์โบไฮเดรตต่ำเกินไปจะทำให้ทารกมีพัฒนาการช้าได้ค่ะ ทางที่ดีในการดูแลสุขภาพช่วงนี้คือคุณแม่ควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย สัดส่วนง่าย ๆ ในการเลือกรับประทานอาหารก็คือ ให้เลือกทานอาหารประเภทแป้ง 2 ส่วนต่อเนื้อสัตว์ 1 ส่วน

การดูแลลูกในครรภ์
credit image : empowher.com

3. ช่วงสามเดือนก่อนคลอด

ในช่วง 3 เดือนหลังนั้นลูกน้อยของคุณแม่เริ่มตัวโตขึ้นและอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้ถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว อวัยวะทุกส่วนเริ่มมีการทำหน้าที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือส่วนของสมองที่กำลังพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็ว ในสมองของลูกกำลังสะสมกรดไขมันเพื่อสร้างเซลล์สมอง และลูกน้อยยังต้องการธาตุเหล็กสะสมไว้ใช้ในช่วง 4 เดือนแรกหลังจากคลอดกับธาตุแคลเซี่ยมเพื่อกระดูกและฟันในอนาคต คุณแม่ต้องช่วยเสริมสร้างลูกด้วยการดูแลน้ำหนักในช่วงนี้ให้ขึ้นประมาณ 5-6 กก. เช่นกันค่ะ อาหารที่จะช่วยเสริมสร้างกระดูกและสมองแก่ลูกได้แก่ ดีเอชเอ ที่คุณแม่จะได้จากการรับประทาน สาหร่ายทะเล ปลาทะเล เช่น แซลมอน ทูน่า ซาร์ดีนและปลาอินทรีย์ โอเมก้า 3 จากปลาสวาย ปลาทู น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวันและน้ำมันถั่วเหลือง เออาร์เอ ได้จากการรับประทาน ถั่วหลากชนิดและเนื้อสัตว์ วิตามินอีได้จาก ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ ไข่แดง จมูกข้าว แคลเซี่ยมจากก้างปลากรอบ ผักใบเขียว นม ชีสและเต้าหู้ และยังต้องการธาตุเหล็กจากตับ เนื้อแดง ไข่แดงด้วย

เรื่องที่น่าสนใจ

นอกจากอาหารการกินและการพักผ่อนแล้ว คุณแม่จะช่วยให้ทารกแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจได้ตั้งแต่อยู่ในท้องด้วยการที่คุณแม่เองต้องทำจิตใจให้ร่าเริง อารมณ์ดีและมีความสุขอยู่เสมอ ออกกำลังกายเบา ๆ เช่นโยคะสำหรับคนท้อง การว่ายน้ำสำหรับคนท้องก็จะช่วยได้ค่ะ หากได้ดูแลร่างกายในแบบที่แนะนำมาข้างตนรับรองว่าลูกน้อยของคุณจะแข็งแรงและมีพัฒนาการที่ดีตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์และคลอดอย่างปลอดภัยแข็งแรงอย่างแน่นอนค่ะ

jirawatisme

Mumeaw คือกลุ่มผู้ที่มีใจรักในการเดินทาง ผจญภัย พบเจอกับสิ่งใหม่ๆรอบตัวบนโลกอันกว้างใหญ่ เรามุ่งมั่นที่จะนำเสนอสิ่งสวยงามที่จะทำให้โลกนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้นในทุกๆด้าน