การดูแลคนท้อง สิ่งไหนควรทำและไม่ควรทำ
ภารกิจของผู้เป็นแม่นั้นยิ่งใหญ่เพราะมีชีวิตน้อย ๆ อีกหนึ่งชีวิตที่พึ่งพาคุณอยู่ในทุกเวลา ตลอด 9 เดือนที่เขาต้องการการดูแลทะนุถนอมอยู่ภายในครรภ์ ไม่ว่าคุณแม่จะรับประทานอะไร ทำกิจกรรมอะไรบ้างในแต่ละวันก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลถึงลูกน้อยทุกอย่างค่ะ ดังนั้นคุณแม่จึงเอาใจใส่ในทุก ๆ สิ่งที่ได้ทำและอาหารทุก ๆ อย่างที่รับประทาน สิ่งที่คนท้องควรทำและไม่ควรทำมีดังนี้ค่ะ
สิ่งที่คนท้องไม่ควรทำ
1. ห้ามสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นอันตรายโดยตรงต่อลูกน้อยในครรภ์ค่ะ จากสถิติพบว่าการสูบบุหรี่หรือดมควันบุหรี่จำนวนมากในช่วงตั้งครรภ์เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ทารกเสียชีวิตแรกเกิด ในบุหรี่มีสารพิษและสารนิโคตินอยู่มาก สารเหล่านั้นยังทำให้พัฒนาการของทารกบกพร่อง เด็กอาจพิการและมีพัฒนาการการเติบโตล่าช้าด้วยนะคะ
2. ห้ามดื่มแอลกอฮอล์
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะส่งต่อไปตามสายสะดือและลูกน้อยก็ต้องถูกบังคับให้ดื่มไปด้วย ลองจินตนาการว่าขนาดเด็กเล็ก ๆ วัยเตาะแตะยังไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพราะทั้งกล่อมประสาทและมีผลกระทบอันตรายมากมาย ลูกน้อยในท้องบอบบางยิ่งกว่าจะยิ่งอันตรายกว่าสักแค่ไหน พิษของแอลกอฮอล์มีผลต่อประสาทและสมอง รวมถึงพัฒนาการต่าง ๆ ที่จะผิดปกติไปของทารกและระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าหากคุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างช่วงตั้งครรภ์ค่ะ
3. หลีกเลี่ยงคาเฟอีน
ทั้งชาและกาแฟมีส่วนผสมของคาเฟอีนอยู่ หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับคาเฟอีนในปริมาณ 200มิลลิกรัมขึ้นไปในแต่ละวัน จะทำให้มีโอกาสแท้งสูงขึ้นเป็น 2 เท่าจากปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงท้องอ่อน ๆ ใน3 เดือนแรก คาเฟอีนในปริมาณ 200 มิลลิกรัมเทียบได้กับกาแฟสด 1 แก้วหรือกาแฟสำเร็จรูปสองแก้ว ในช่วงตั้งครรภ์ถ้าคุณแม่หลีกเลี่ยงคาเฟอีนได้ก็จะดีกว่าค่ะ
4. ไม่ควรรับประทานอาหารบางชนิด
มีอาหารบางชนิดที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรงดรับประทานด้วยค่ะ ได้แก่ อาหารที่ปรุงไม่สุกหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารเหล่านี้อาจจะมีเชื้อโรคเจือปน เช่นโรคบิดท้องร่วง และอื่น ๆ คุณแม่ตั้งครรภ์หากเป็นโรคบิด ท้องเสียหรือท้องร่วงจะมีความอันตรายต่อลูกในท้องและยังลำบากและมีอาการไม่สบายมากกว่าคนปกติด้วย ยิ่งอาหารเหล่านั้นมีเชื้อโรคหรือพยาธิก็จะส่งผลต่อลูกน้อยได้เช่นกันค่ะ
5. เนยแข็งบางชนิด นมสดที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือพาสเจอร์ไรซ์ อาหารปรุงสำเร็จที่ตรวจสอบไม่ได้
อาหารเหล่านี้อาจจะมีแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ แบคทีเรียเหล่านี้อาจส่งผ่านไปถึงทารกในครรภ์และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ค่ะ และแบคทีเรียยังทำให้เกิดการติดเชื้อที่มดลูกซึ่งส่งผลต่อกระแสเลือดติดเชื้อเป็นอันตรายต่อชีวิตของทารกเช่นกันค่ะ เมื่อคุณแม่จะรับประทานอาหารอะไรให้มั่นใจว่าสะอาดและปรุงสุกทันที ไม่ใช่อาหารสกปรก อาหารค้าง หรือเพื่อความแน่นอนอาจจะนำมาอุ่นสุกอีกครั้งจะดีที่สุดค่ะ
6. อย่าละเลยการนัดของหมอ
คุณแม่ควรไปตามนัดทุกครั้งที่คุณหมอนัดตรวจเพื่อที่จะอยู่ในความดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิด เพราะคุณหมอจะได้ซักถามและตรวจร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยได้อย่างละเอียด เมื่อมีสิ่งผิดปกติหรือมีคำแนะนำอะไรที่มีประโยชน์โดยเฉพาะในการตั้งครรภ์ครั้งนี้ คุณแม่ก็จะไม่พลาดการแนะนำและดูแลค่ะ
7. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแปลก ๆ
ยาที่ไม่เคยใช้มาก่อนหรือยาที่สงสัยว่าจะใช้ได้หรือไม่ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก้อนใช้ยานั้น เพราะยาบางอย่างช่วงก่อนตั้งครรภ์คุณแม่อาจใช้ได้ไม่อันตรายหรือส่งผลเสียอะไร แต่ในช่วงตั้งครรภ์อาจจะให้ผลที่แตกต่างกันออกไปได้ค่ะ
สิ่งที่ควรทำในช่วงตั้งครรภ์
1. ใส่รองเท้าส้นเตี้ย
สรีระของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์จะมีความไม่สมดุลประกอบกับร่างกายที่มีหน้าท้องใหญ่คุณแม่ก็มักจะไม่ชิน รองเท้าส้นเตี้ยที่ใส่สบายจึงเหมาะสมที่สุด เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุจากการหกล้มที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการทรงตัวค่ะ
2. ทำทุกอย่างอย่างระมัดระวัง
ทุกอิริยาบถคุณแม่จะต้องทำด้วยความระมัดระวังนะคะ หลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง ๆ ที่อาจจะส่งผลอันตรายแก่ลูกน้อยในท้อง เช่นกีฬาที่โลดโผนหรือเสี่ยงเกินไป การไปในที่ ๆ มีผู้คนพลุกพล่าน อาจทำให้ติดโรคไม่สบาย หรือเป็นลมเพราะการเบียดเสียดจากอากาศร้อนค่ะ
3. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด
ความสะอาดสำคัญมากสำหรับคุณแม่ท้อง เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรคหรือความไม่สบายเนื้อตัวและอากาศที่ปลอดโปร่ง หากที่บ้านมีสัตว์เลี้ยงเช่นสุนัขและแมว ให้คุณแม่หลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้ชิดสัตว์เลี้ยง ทำความสะอาดที่อยู่ประจำของสัตว์ด้วยค่ะ
4. พักผ่อนเปลี่ยนอิริยาบถในแต่ละวัน
คุณแม่ไม่ควรจะอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไปค่ะ ควรจะเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เช่นไม่นั่นนาน ไม่ยืนนานเกินไป เพราะฮอร์โมนและสรีระของคุณแม่ช่วงท้องจะไวต่อความปวดเมื่อย เหนื่อยล้าเมื่ออยู่ในท่าทางที่จำเจนาน ๆ นะคะ
5. สังเกตการณ์ดิ้นของลูก
เมื่อลูกน้อยอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป คุณแม่จะรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้ชัดเจน ให้สังเกตการณ์ดิ้นของลูกในแต่ละวันด้วยค่ะว่า ลูกดิ้นเป็นปกติหรือไม่หากมีอะไรที่ไม่ปกติเป็นระยะเวลาเกิน 1 วันให้คุณแม่ปรึกษาคุณหมอเพื่อความปลอดภัยของลูกในครรภ์
6. พักผ่อนเพียงพอและไม่ทำงานหักโหม
คุณแม่บางท่านยิ่งตั้งท้องยิ่งโหมทำงานเพราะกลัวว่างานจะคั่งค้างเมื่อลาคลอด หรือโหมทำงานมากขึ้นเพื่อจะเพิ่มรายได้ สิ่งนี้เป็นอันตรายเพราะร่างกายคุณแม่ต้องการการพักผ่อนมากกว่าคนปกติ เนื่องจากคนท้องนั้นชีพจรจะเต้นเร็วกว่าและหายใจลำบากกว่าอยู่แล้ว คุณแม่ควรพักผ่อนให้มาก ทำงานให้น้อยลง และถ้ารู้สึกเหนื่อยเกินไปในช่วงเดือนหลัง ๆ ของการตั้งครรภ์ก็ควรจะลาพักจากงานเพื่อพักผ่อนเตรียมคลอดก็จะดีที่สุดค่ะ
7. ทำใจให้สบายผ่อนคลาย
ยิ่งใกล้คลอดคุณแม่อาจเกิดความกังวล ทั้งต่อการคลอดและการเลี้ยงดูลูก คุณแม่ควรปล่อยให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ละความกังวลเพราะเมื่อคุณแม่มีใจเบิกบานมีความสุขก็จะส่งผลต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ด้วยนะคะ
เรื่องที่น่าสนใจ
- คนท้องเต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
- รีวิวชุดตรวจครรภ์
- วิธีตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง
- อาการคนท้อง 1 สัปดาห์
- จะรู้ได้อย่างไรว่าท้อง
- วิธีเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์
- ทำไมต้องฝากครรภ์
- อาหารบำรุงครรภ์
- วิธีรับมือกับอาการแพ้ท้อง
- อาหารที่คนท้องไม่ควรกิน
- นมสำหรับคนท้อง
- ประโยชน์ของน้ำนมแม่
- วิธีลดอาการปวดหลังสำหรับคนท้อง
- การดูแลคนท้อง
- พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละเดือน
- วิธีดูแลลูกในท้องให้แข็งแร็ง
ไขข้อข้องใจคุณแม่มือใหม่ “คนท้องห้ามทำอะไรบ้าง” ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือสิ่งที่คุณแม่ควรทำและไม่ควรทำในช่วงเวลาตั้งครรภ์หากคุณแม่สามารถทำได้ตามคำแนะนำเหล่านี้ ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ก็จะแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ลูกน้อยมีพัฒนาการในครรภ์ที่สมบูรณ์ค่ะ