วิธีการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับคุณแม่มือใหม่

ร่างกายของผู้หญิงเป็นสิ่งมหัศจรรย์และวิเศษ เพราะเป็นที่ก่อกำเนิดและพักพิงอาศัยของชีวิตน้อย ๆ อีกชีวิตหนึ่ง การให้กำเนิดเด็กเล็ก ๆ สักหนึ่งหรือสองคนให้เจ้าตัวน้อยมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งจิตใจและร่างกายทุกส่วน นับว่าเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่ผู้หญิงสักคนจะทำเพื่อโลกใบนี้ เมื่อหญิงสาวสักคนหนึ่งพร้อมที่จะเป็นแม่คน และมีความตั้งใจว่าจะมีลูกน่ารักก็คงต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมเสียก่อนค่ะ การตั้งครรภ์เมื่อมีการเตรียมพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจเท่าที่จะทำได้ก็จะทำให้กระบวนการการคลอดลูกน้อยและการเลี้ยงดูเป็นไปด้วยดีและราบรื่นนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่หลักที่ว่าที่คุณแม่จะต้องเตรียมตัวก็คือสภาพของร่างกายและจิตใจ เพราะร่างกายของคุณแม่คือจุดก่อกำเนิดของลูกน้อยนั่นเองค่ะ การเตรียมตัวในการตั้งครรภ์ของคุณแม่มือใหม่ว่าที่คุณแม่สามารถเตรียมได้ด้วยขั้นตอนดังนี้

 

1. ตรวจสุขภาพร่างกายและพบแพทย์ก่อนตั้งครรภ์

เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
credit image : catatanmama.com

หากคุณและคู่แต่งงานคือสามีของคุณเห็นพ้องต้องกันและวางแผนเป็นที่แน่นอนถึงช่วงเวลาที่จะมีเจ้าตัวน้อยไว้เป็นสายสัมพันธ์ของครอบครัวแล้ว สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือให้คุณทั้งคู่จูงมือกันไปพบกับคุณหมอ เพื่อขอคำแนะนำปรึกษาและตรวจร่างกายของทั้งว่าที่คุณพ่อและว่าที่คุณแม่อย่างละเอียดก่อนค่ะ การตรวจร่างกายอย่างละเอียดจะช่วยวิเคราะห์และวินิจฉัยว่าร่างกายของทั้งคู่พร้อมที่จะให้กำเนิดบุตรที่สมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ เช่น โรคเลือดธาลัสซิเมีย ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทยของเรา อีกทั้งยังดูถึงความพร้อมว่าทั้งสามีและภรรยามีลูกง่ายหรือยาก สืบประวัติของครอบครัวจากการเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมอื่น ๆ เช่นโรคเบาหวานเป็นต้น

 

ขั้นตอนของการตรวจร่างกายเพื่อความพร้อมในการมีบุตรเป็นดังนี้ค่ะ เมื่อว่าที่คุณพ่อและว่าที่คุณแม่เข้าปรึกษากับคุณหมอ คุณหมอจะเริ่มจากการสอบถามประวัติของการคุมกำเนิดก่อนว่า ทั้งสองมีวิธีการคุมกำเนิดที่ผ่านมาอย่างไร โดยเฉพาะการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดต่าง ๆ ใช้ต่อเนื่องมานานเท่าไหร่และหยุดใช้ยานานหรือยัง เพื่อนำมาประเมินระยะเวลาที่ร่างกายจะพร้อมมีบุตรได้ เพราะในบางกรณีที่ทางว่าที่คุณแม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิดต่อเนื่องมานาน หลังจากที่เลิกใช้แล้วอาจจะต้องมีระยะเวลาที่ร่างกายจะฟื้นฟูปรับตัวเพื่อการตั้งครรภ์ที่ได้ผลด้วยค่ะ อีกทั้งประวัติของการมีประจำเดือนก็สำคัญเพราะประจำเดือนมาสม่ำเสมอหรือไม่ก็เป็นผลให้ตั้งครรภ์ง่ายหรือยากด้วย

 

ต่อมาคุณหมอจะถามถึงประวัติความเจ็บป่วยและการรักษาของทั้งคู่ โดยเน้นไปที่คุณแม่เป็นหลักว่า มีความเจ็บป่วยที่ผ่านมาหรือไม่ เช่นการผ่าตัด การรักษาด้วยยาหรือเคมีต่าง ๆ มีโรคประจำตัวหรือเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคอื่นใดมาบ้างการอักเสบทางช่องคลอดที่อาจมีผลต่อเนื่องถึงการมีบุตร และทำการตรวจภายในเพื่อช่วยในการวินิจฉัยความพร้อม คุณทั้งคู่จะได้มีความอุ่นใจว่าสามารถมีลูกได้อย่างปลอดภัย หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่องหรือต้องรักษาเตรียมตัวร่างกายในด้านสุขภาพ คุณหมอก็จะแจ้งให้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติตัวหรือรักษาได้ทันค่ะ

 

2. เตรียมร่างกายและจิตใจ

การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์
credit image : onewomansview.co.uk

หลังจากที่ทั้งสองได้ไปพบคุณหมอและเช็คสุขภาพ เตรียมตัวด้านสุขภาพอนามัยในด้านการแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือคุณแม่ต้องเตรียมตัวสภาพจิตใจและร่างกายของตัวเองค่ะ เริ่มจากต้องไม่เครียดหรือกังวลว่าจะตั้งครรภ์ได้ไหม ตั้งครรภ์เมื่อไหร่ เพราะมีการวิจัยมาทั่วโลกว่า ผู้หญิงจะตั้งครรภ์และคลอดลูกน้อยที่น่ารักสมบูรณ์แข็งแรง การปรับอารมณ์ความรู้สึกและสภาพจิตใจให้มีความสุขอยู่เสมอ ผ่อนคลายมีผลเป็นอย่างมากต่อการตั้งครรภ์ง่ายและลูกออกมาแข็งแรงค่ะเพราะสภาวะกายและใจของคุณแม่จะเชื่อมโยงต่อทารกในครรภ์ การปรับตัวในด้านชีวิตประจำวันก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ว่าที่คุณแม่ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเช่นกันค่ะ ใครที่แต่เดิมก่อนหน้านี้เป็นคนทำงานหนัก เป็นWorking woman ทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่ต่างกับผู้ชาย กลับบ้านดึกเลิกงานช้า ทุ่มเทในการทำงานมาก เมื่อมาถึงช่วงเวลาที่เตรียมตัวเป็นคุณแม่ จะต้องหันมาดูแลสุขภาพให้มากขึ้น จัดสรรเวลางานให้ลงตัวมากขึ้นหากรู้ตัวว่าทำงานหนักพักผ่อนไม่เพียงพอและมีความเครียดสูง ก็ต้องผ่อนคลายและจัดสรรความสำคัญในส่วนของหน้าที่การงานเสียใหม่ค่ะ เพราะการตั้งท้องมีเจ้าตัวน้อยนั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิตไม่แพ้ช่วงอื่น ๆ ทีเดียว

 

3. เรียนรู้ช่วงเวลาที่ไข่ตกและการปฏิสนธิที่ดี

ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์
credit image : qsota.com

การเรียนรู้ช่วงเวลาที่ทั้งว่าที่คุณพ่อและคุณแม่จะมีเพศสัมพันธ์เพื่อการตั้งครรภ์นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ เพราะช่วงเวลาที่เหมาะสมจะทำให้มีเปอร์เซ็นต์การตั้งครรภ์ได้ดีกว่าและยังได้ผลคือลูกที่ออกมาแข็งแรงจากไข่และอสุจิที่สมบูรณ์อีกด้วย ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการมีความสัมพันธ์กันของสามีภรรยาคือ ช่วงหลังจากที่คุณผู้หญิงมีประจำเดือนไปแล้วประมาณ 14 วันค่ะ เป็นช่วงที่ไข่ตกและเป็นเสมือนช่วงเวลาทอง เพราะการตกของไข่ 1 ใบในเวลา1 รอบเดือน ไข่สมบูรณ์จะมีอายุอยู่ได้ 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าประกอบกับคุณสามีที่พักผ่อนเพียงพอ ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายสบาย ก็จะมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้มากขึ้นเป็นเท่าตัวค่ะ

เรื่องที่น่าสนใจ

หากทั้งว่าที่คุณแม่และคุณพ่อได้เตรียมพร้อมถึง 3 ขั้นตอนที่ได้นำมาฝากกันดังกล่าว รับรองได้ว่าการเตรียมตัวตั้งครรภ์ในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จและรวมไปจนถึงกระบวนการตั้งครรภ์และคลอดลูกน้อยที่ปลอดภัยสมบูรณ์แข็งแรงอย่างแน่นอนค่ะ